ลดขยะเศษอาหาร ต้นเหตุมลพิษโลก ด้วยการทำปุ๋ยหมักกันเถอะ

T

เพื่อนมาหา ญาติมาเยี่ยมทั้งที ก็ต้องมีปาร์ตี้ จัดอาหารเต็มที่กันหน่อย ชาบูเอย ปิ้งย่างเอย หมูกระทะเอย

แต่เมื่อความสนุกและช่วงเวลาเพลิดเพลินผ่านไป เหลือทิ้งไว้แต่ซากเศษอาหาร ที่เป็นหลักฐานและยังคงกองอยู่มุมใดมุมหนึ่งของห้อง มีทั้งขยะอาหารที่นำมาทานต่อไม่ได้แล้ว และเศษอาหารที่ส่งต่อให้น้องหมาน้องแมวจรกินได้ แต่ขยะเศษอาหารที่ต้องทิ้งก็เยอะมาก แค่เห็นก็เสียดายหากต้องทิ้งไปเฉยๆ อย่างไร้ค่า ทั้งที่มันน่าจะนำกลับมาใช้ประโยชน์ได้อีก อย่างการทำเป็นปุ๋ยที่ให้คุณค่าอาหารกับผักริมระเบียงห้องนั่นไง! 

ความคิดน่ะดี แต่การลงมือทำน่ะยาก เพราะการจะทำกองปุ๋ยหมัก หรือถังหมักปุ๋ยแบบดั้งเดิม มันต้องใช้พื้นที่ค่อนข้างเยอะ และยังต้องมีการฝังกลบลงดิน หรือพลิกกองไปมา วิธีทำปุ๋ยหมักแบบนี้เหมาะกับบ้านที่มีพื้นที่สวน แต่มนุษย์ตึกอย่างเราจะทำอย่างไรล่ะ มองเศษอาหารที่กองพะเนิน แล้วอดนึกถึงบ่อขยะไม่ได้เลย ขยะจากเศษอาหารเหลือกินเหลือทิ้งของคนเรานี่ล่ะ ที่เป็นส่วนหนึ่งในการทำให้โลกเกิดสภาวะแปรปรวนทางสิ่งแวดล้อม จนสภาพภูมิอากาศแย่ลงไปทุกทีอย่างที่รู้ ๆ กันอยู่ 

แม้ว่าจะมีโครงการรณรงค์มากมาย เพื่อผลักดันการรีไซเคิลขยะ แต่ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะนำขยะพลาสติกไปรีไซเคิลใหม่ได้ หากยังไม่มีการแยกขยะได้อย่างเหมาะสม โดยเฉพาะขยะเศษอาหารที่ปะปนกับขยะอื่นๆ จนเกิดการเหม็นเน่า หรือการฝังกลบขยะรวมกัน ทำให้การนำพลาสติกไปแปรรูปได้ยากกว่าที่ควรจะเป็น 

เอาล่ะ วกกลับมาที่กองซากขยะอาหารที่มุมห้องกันต่อ มันจะดีมากเลยนะ ถ้าจะแปลงร่างจากขยะไร้ค่า ไปเป็นอาหารที่มากประโยชน์ให้กับแปลงผักน้อย ๆ ตรงริมระเบียง แต่ไม่ใช่ว่าจะนำใส่ลงกระถางได้เลยนะ เพราะมด แมลง และกลิ่นจะตามมาหลังจากนั้นไม่นาน และต้นผักก็จะตาย เพราะมดพาเพื่อนเพลี้ยขาวมาด้วย แล้วจะต้องทำปุ๋ยหมักจากเศษอาหารด้วยวิธีไหน ที่ไลฟ์สไตล์คนเมืองและวิถีชีวิตคนนอนตึกอย่างเราทำได้ง่าย สะดวก ไม่ยุ่งยาก และรวดเร็วที่สุด? 

แต่ก่อนอื่นเรามาดูนิยามคำว่าปุ๋ยหมักคืออะไรกันก่อน ปุ๋ยหมักคือ ปุ๋ยอินทรีย์ หรือปุ๋ยธรรมชาติ ที่ได้จากเศษอินทรีย์วัสดุ เช่น ใบไม้ หญ้าแห้ง เศษอาหาร ฟางข้าว และขยะมูลฝอยต่าง ๆ ทับถมรวมกัน แล้วเกิดการเน่าเปื่อย และย่อยสลายตามธรรมชาติ ส่วนการหมักปุ๋ยคือการนำซากพืช หรือเศษเหลือจากพืช และวัสดุอินทรีย์ ที่สามารถย่อยสลายได้ มากองสุมรวมกัน จากนั้นรดน้ำให้ชื้น เพื่อทำการหมัก และให้เกิดการเน่าเปื่อย โดยมีจุลินทรีย์เป็นตัวแปรสำคัญในกระบวนการย่อยสลาย จนเปลี่ยนสภาพวัสดุอินทรีย์ ให้เป็นปุ๋ยที่มีสารอาหารจำเป็นต่อพืชและดิน

ในเมื่อปุ๋ยหมักเกิดจากการย่อยสลายของความเน่าเปื่อย ที่มีสารอินทรีย์ต่าง ๆ เป็นตัวตั้งต้น ดังนั้น ดินบริเวณบ่อขยะ ที่เป็นแหล่งทิ้งขยะจากชุมชนต่าง ๆ น่าจะมีสารอาหารแก่พืชและต้นไม้ต่าง ๆ จากการย่อยสลายของขยะที่กองสุมพะเนินเป็นภูเขาย่อม ๆ ?  ไม่ใช่เลย แต่กลับยิ่งตรงข้ามกัน เพราะขยะที่ถูกนำมาทิ้งกองรวมกัน ไม่ได้มีการจัดการแยกขยะตามแต่ละประเภท ทำให้ขยะที่ย่อยสลายได้ อย่างเศษอาหาร ที่มีการเน่าเปื่อย และกำลังเข้าสู่กระบวนการย่อยสลายตามธรรมชาติ มีการปนเปื้อนจากสารเคมี อย่าง ไมโครพลาสติก (Microplastics) นาโนพลาสติก (Nano plastics) ไมโครบีดส์ (Microbeads) หรือแม้แต่มาโครพลาสติก (Macroplastics) ซึ่งเป็นพลาสติก ที่มีอนุภาคขนาดเล็ก ไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า ที่เกิดจากกระบวนการย่อยสลาย ทั้งการย่อยสลายทางกล (Mechanical degradation) กระบวนการย่อยสลายทางเคมี (Chemical degradation) การย่อยสลายทางชีวภาพ (Biological degradation) รวมไปถึงการย่อยสลายจากแสงอาทิตย์ (UV degradation) ที่ส่งผลต่อขยะพลาสติกต่าง ๆ จนสารเคมีที่เป็นส่วนประกอบโครงสร้าง หลุดออก หรือมีการแตกตัวจนเป็นขนาดเล็ก กลายเป็นสารแขวนลอย ปะปนกับการย่อยสลายของสารอินทรีย์ แทรกซึมลงสู่พื้นดิน และไหลลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ เป็นพิษต่อดินและแหล่งน้ำ รวมไปถึงสิ่งมีชีวิตในน้ำทุกชนิด

ไม่เพียงแค่นั้น กองบ่อขยะ ยังเป็นแหล่งที่ปล่อยก๊าซมีเทน (CH4) องค์ประกอบของก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse Gases) จากการย่อยสลายสารอินทรีย์ โดยจุลินทรีย์แบบไม่ใช้อากาศ ในปริมาณมหาศาล ซึ่งก๊าซมีเทนก่อให้เกิดภาวะโลกร้อน ได้มากกว่าก๊าซคาร์ยอนไดออกไซด์ (CO2) ถึง 25 เท่า!! ส่งผลให้ชั้นบรรยากาศมีการกักเก็บรังสีความร้อนไว้มากขึ้น และชั้นโอโซนก็ถูกทำลายจนบางลง ไม่สามารถกรองรังสีอัลตร้าไวโอเลต (Ultraviolet) ได้เท่าที่ควร เป็นเหตุให้รังสี UV ผ่านมายังโลกมากขึ้น ซึ่งจะเป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิตในโลก หากได้รับรังสียูวีมากเกินไป 

ซึ่งคนส่วนใหญ่ยังไม่ได้ให้ความสำคัญ หรือมองข้ามผ่านกับปัญหาขยะเศษอาหาร เพราะอาจไม่คาดคิดว่า อาหารที่เราทุกคนทานกันอยู่ทุกมื้อ เป็นอีกสาเหตุหลักของการเกิด ภาวะโลกร้อน (Global Warmimg) หากย้อนนึกไปถึง บทท่องก่อนรับประทานอาหาร ที่หลาย ๆ คนน่าจะเคยได้ยิน หรือท่องกันมาก่อนในสมัยเด็ก รวมถึงผู้ที่รับราชการทหาร ที่ว่า “ข้าวทุกจาน อาหารทุกอย่าง อย่ากินทิ้งขว้าง เป็นของมีค่า สงสารบรรดา เด็กตาดำ ๆ ….”  ซึ่งเป็นคำกุสโลบาย ปลูกฝังให้ทุกคนรู้จักคุณค่าของอาหาร ตักแต่พอกิน ทานแต่พออิ่ม เพราะเมื่อไรก็ตาม ที่มีอาหารเหลือจากการกิน และถูกทิ้งขว้าง จนกลายเป็น ขยะเศษอาหาร และปัญหาที่ตามมา มันส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง และมากกว่าที่ใครจะคิด ซึ่งมันกำลังเกิดขึ้นแล้วในตอนนี้! 

อย่างที่เกริ่นไปก่อนนี้ ว่ามีการผลักดัน และรณรงค์ให้ทุกภาคส่วน หันมาให้ความสนใจถึงปัญหาขยะเศษอาหาร รวมไปถึงการคัดแยกประเภทขยะ เพื่อการนำไปรีไซเคิล ส่วนการแยกขยะเศษอาหาร เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ต่อได้ ตามความเหมาะสมกับบริบทแต่ละพื้นที่ เช่น การนำเศษอาหารที่ยังสามารถทานได้ ไปเป็นอาหารแก่สัตว์อื่น ๆ อย่างสัตว์จรจัด หรือนำไปเลี้ยงสัตว์ในฟาร์ม หรือการนำไปทำน้ำหมักชีวภาพ ปุ๋ยหมักชีวภาพ ปุ๋ยหมักจากเศษอาหาร โดยสำนักงานเขตจะมีการจัดเก็บขยะอินทรีย์จากแหล่งกำเนิดขนาดใหญ่ ตามที่ต่าง ๆ เข่น โรงเรียน โรงแรม ร้านอาหาร ตลาดสด ห้างสรรพสินค้า เป็นต้น แล้วส่งต่อไปยัง โรงงานหมักปุ๋ยอินทรีย์ เพื่อนำไปแปรรูป ที่ใช้ประโยชน์ได้อีกครั้ง 

ส่วนพวกเราที่เป็นต้นทางของปัญหาขยะอาหาร ก็สามารถช่วยลดขยะ และเปลี่ยนแปลงสิ่งดี ๆ ให้กับโลกของเราได้ โดยเริ่มตั้งแต่ 

1.เตรียมอาหารแต่พอทาน ตั้งแต่การเตรียมวัตถุดิบในการทำอาหาร ให้เพียงพอต่อสมาชิกในบ้าน โดยไม่ซื้อเก็บเยอะเกินไป เพื่อลดปริมาณอาหารที่ต้องเหลือทิ้ง จากการทานไม่ทันจนอาหารหมดอายุ  

2.ตักอาหารแต่พอกิน เมื่อต้องตักอาหารเอง ควรลองตักในปริมาณที่คิดว่าจะทานหมด อย่าตักเพราะความหิวเป็นหลัก เพราะจะทำให้ตักอาหารมากเกินไป จนอาจเหลือทิ้งได้ หากไม่อิ่มจึงค่อยตักเพิ่ม การตักอาหารให้พอทาน นอกจากจะช่วยไม่ให้มีอาหารกินเหลือ จนต้องเททิ้งแล้ว ยังเป็นการควบคุมน้ำหนักไปในตัว และไม่ต้องฝืนทานให้หมดเพราะความเสียดาย 

3.นำเศษอาหารเหลือทิ้ง มาใช้ประโยชน์ให้ได้มากที่สุด โดยแยกเศษอาหารที่สามารถให้สัตว์จรจัดได้ และส่วนของเศษอาหารที่สัตว์ทานไม่ได้ นำไปหมักปุ๋ย เพื่อใช้เป็นอาหารให้กับต้นไม้ และบำรุงธาตุให้กับดิน 

ซึ่งการทำปุ่ยหมักแบบวิธีดั้งเดิม จะค่อนข้างยุ่งยาก หลายขั้นตอน และใช้เวลานานเกินไป ไม่ตอบโจทย์กับวิถีชีวิตชุมชนเมือง อีกทั้งลักษณะที่อยู่อาศัยในปัจจุบัน มักจะมีพื้นที่จำกัด ไม่มีบริเวณมากพอที่จะทำปุ๋ยหมัก แบบกองหมักปุ๋ยได้ แต่สิ่งเหล่านั้นจะไม่เป็นอุปสรรค สำหรับทำปุ๋ยหมักจากเศษอาหาร ของคนยุคเทคโนโลยีอีกต่อไป เพราะนวัตกรรมใหม่ ที่จะช่วยให้การทำปุ๋ยหมักง่าย สะดวก และรวดเร็วขึ้น จนลืมวิธีการทำปุ๋ยหมักแบบเดิม ๆ ไปเลย ช่วยกำจัดขยะเศษอาหารในบ้าน จบปัญหาเรื่องกลิ่นขยะเหม็นเน่า ไม่มีมด หนู และ แมลงมากวนใจอีกต่อไป แถมยังได้ปุ๋ยหมักไปเสิร์ฟผักสวนครัว ได้ทานผักสด ผักออแกนิก ไร้สารเคมีเจือปน ดีต่อสุขภาพ และเมื่อขยะเศษอาหารถูกแปรสภาพไปเป็นปุ๋ยแล้ว จึงเหลือเพียงแต่ขยะอื่น ๆ เช่น ขยะกระดาษ ขยะพลาสติก ฯลฯ ที่สามารถแยกไปรีไซเคิลตามแต่ละประเภทได้ง่ายขึ้น ช่วยลดการใช้ถุงขยะลง ประหยัดค่าใช้จ่ายในบ้าน รวมถึงประหยัดงบประมาณของประเทศ สำหรับการกำจัดขยะในแต่ละปี ที่มีมูลค่าสูงกว่าหลายพันล้าน 

การทำปุ๋ยหมัก ไม่ได้เพียงแต่ช่วยกำจัดขยะเศษอาหารในบ้าน หรือได้ปุ๋ยชั้นเลิศบำรุงพืชผักเท่านั้น แต่ผลกระทบที่ยิ่งใหญ่กว่านั้น คือ ลดการปล่อยก๊าซมีเทน ที่มักจะเกิดขึ้นในระหว่างกระบวนการย่อยสลายของสารอินทรีย์ธรรมชาติ เมื่อก๊าซมีเทนมีจำนวนถูกปล่อยขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศน้อยลง ก็ย่อมส่งผลกระทบต่อเรือนกระจกลดลงเช่นกัน ไม่เพียงแค่นั้น การแยกขยะเศษอาหารออกจากขยะอื่น ๆ ทำให้แยกขยะอื่น ไปรีไซเคิลได้อย่างเหมาะสม เช่น การนำขยะพลาสติกไปหลอมเป็นน้ำมัน หรือนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิง เป็นต้น ส่งผลให้เหลือเพียงขยะที่ไม่สามารถนำไปรีไซเคิลได้แล้ว นอกจากการกำจัดทิ้งเท่านั้น ปริมาณขยะที่ลดลง ก็จะทำให้การเผาลดลง การปล่อยก๊าซลดลง งบประมาณที่ใช้ในการกำจัดขยะลดลง มีการจัดการอย่างเป็นระบบ ระเบียบมากขึ้น ทำให้ลดขยะพลาสติกที่จะต้องกองทับถมที่บ่อขยะน้อยลง สารเคมีเจือปนที่จะกระจายรบกวนระบบนิเวศน์ก็จะลดลงเช่นกัน

การทำปุ๋ยหมัก เหมือนจะเป็นเพียงสิ่งเล็กๆ ที่หลายคนมองข้าม แต่แท้จริงแล้ว ผลที่ได้ในการทำปุ๋ยหมักจากเศษอาหารของทุกบ้าน ส่งผลต่อระบบนิเวศน์และทุกชีวิตในโลกนี้อย่างมหาศาล จึงเป็นเหตุผลที่ว่า ทำไมเราทุกคนจึงควรใส่ใจ และหันมาให้ความร่วมมือ เพื่อทำทุกวิถีทาง ในการลดมลพิษ ลดสาเหตุของการเกิดสภาวะเรือนกระจก ด้วยการทำปุ๋ยหมักจากเศษอาหาร ที่มีต้นทางมาจากพวกเราทุกคนเอง!!