โซลาร์เซลล์คืออะไร ข้อดีของโซลาร์เซลล์ และการเลือกใช้ให้เหมาะกับการใช้งาน

T

โซลาร์เซลล์ ภาษาอังกฤษเขียนว่า Solar Cell คือ เซลล์จากแสงดวงอาทิตย์ หรือที่รู้จักกันในชื่อ เซลล์โฟโตโวลตาอิก Photovoltaic cell เป็นอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ทำจากสารกึ่งตัวนำชนิดพิเศษ มีคุณสมบัติเปลี่ยนพลังงานแสงอาทิตย์ให้กลายเป็นพลังงานไฟฟ้า โดยพลังงานกระแสไฟฟ้าที่โซลาร์เซลล์ผลิตเป็น Direct Current  คือ ไฟฟ้ากระแสตรง สามารถนำไปใช้งานได้ทันที อีกทั้งยังสามารถเก็บไว้ในแบตเตอรี่เพื่อใช้งานในภายหลัง ใช้ได้อย่างไม่จำกัด ช่วยประหยัดค่าใช้จ่าย ลดปัญหาสิ่งแวดล้อม เพราะเป็นพลังงานสะอาดจากธรรมชาติโดยตรง จึงนิยมนำมาใช้ผลิตกระแสไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์กันอย่างแพร่หลาย

โซลาร์เซลล์ ประโยชน์ในด้านการประหยัดไฟ

โซลาร์เซลล์สามารถแปลงพลังงานแสงอาทิตย์ให้เป็นพลังงานไฟฟ้าได้อย่างไม่จำกัด ช่วยประหยัดการใช้ไฟฟ้าแบบดั้งเดิมได้ถึงหน่วยละ 4.50 บาท ช่วยลดค่าไฟลงประมาณ 3 – 4 เท่า และหากใช้ไม่หมดก็สามารถขายคืนให้กับการไฟฟ้าได้หน่วยละ 1.68 บาท เลยทีเดียว จึงกล่าวได้ว่า การใช้โซลาร์เซลล์ช่วยประหยัดพลังงานและเซฟค่าไฟฟ้าได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะประเทศไทยที่มีแสงแดดให้ใช้งานได้ตลอดทั้งปี 

ข้อดีของโซลาร์เซลล์ 

  • ตัวแปรฟรี เพราะแสงแดดเป็นพลังงานธรรมชาติที่ไม่ต้องซื้อ สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ฟรี เพียงแค่มีแสงแดดก็สามารถผลิตไฟฟ้าไว้ใช้งานได้ตลอด โดยเฉพาะช่วงตอนกลางวัน และเก็บกักไว้ใช้ในตอนกลางคืนได้เช่นกัน 
  • ประหยัด เพราะการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ช่วยลดค่าไฟได้ ยิ่งถ้าเป็นตามสถานที่ต้องใช้ไฟในปริมาณมาก เช่น สำนักงาน ร้านอาหาร โรงพยาบาล โรงงาน ช่วยลดค่าไฟฟ้าไปได้แทบครึ่งต่อครึ่งเลยทีเดียว 
  • คุ้มค่าแก่การลงทุน เพราะเมื่อเทียบกับค่าติดตั้งในครั้งแรก กับระยะเวลาในการใช้งานโซลาร์เซลล์ได้นานถึง 20 – 25 ปี ค่าไฟที่ลดลงในแต่ละเดือน และยังสามารถคืนทุนในระหว่างใช้งานได้อีก ถือว่าเป็นการลงทุนที่คุ้มค่า 
  • คืนทุน หากเราใช้พลังงานไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์ไม่หมด สามารถขายคืนให้กับการไฟฟ้าได้ 
  • เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ช่วยรักษ์โลก เพราะพลังงานที่ได้จากโซลาร์เซลล์เป็นพลังงานธรรมชาติที่สามารถใช้ได้ไม่มีหมด ไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม 

โซลาร์เซลล์ติดตั้งที่ใดได้บ้าง 

โซลาร์เซลล์เหมาะกับการติดตั้งในพื้นที่มีคนอาศัย เช่น สำนักงาน ออฟฟิศ ร้านอาหาร โรงงาน และอื่น ๆ ที่ต้องใช้ไฟฟ้าในช่วงเวลากลางวันเป็นส่วนใหญ่ เพราะประสิทธิภาพการทำงานของแผงโซลาร์เซลล์ที่ดีที่สุด คือ ช่วงเวลากลางวัน หรือช่วงที่มีแสงแดดส่อง

การติดตั้งโซลาร์เซลล์สำหรับบ้านและที่พักอาศัย 

การติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์สำหรับบ้าน ที่พักอาศัย สามารถเลือกขนาดโซลาร์เซลล์ให้เหมาะกับการใช้งาน ซึ่งมีตั้งแต่ขนาด 1 – 12 kWp. (กิโลวัตต์) หรือ 1,000 – 2,000 วัตต์ โดยโซลาร์เซลล์ที่ติดตั้งบ้านที่อยู่อาศัย จะนิยมใช้ระบบออนกริดที่มีการเชื่อมต่อเข้ากับระบบของการไฟฟ้า เพื่อให้ใช้งานโซลาร์เซลล์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยลดการใช้ไฟในช่วงกลางวันได้ประมาณ 30 – 70% และสามารถเข้าร่วมโครงการขายไฟคืนให้กับการไฟฟ้าได้หากใช้ไฟเหลือ 

การติดตั้งโซลาร์เซลล์สำหรับระบบธุรกิจและโรงงานอุตสาหกรรม

สำหรับระบบธุรกิจและโรงงานอุตสาหกรรม ผู้ประกอบการสามารถติดตั้งโซลาร์เซลล์ได้เช่นกัน เป็นผลดีทั้งต่อระบบธุรกิจและสิ่งแวดล้อม เพราะส่วนใหญ่จะใช้ปริมาณไฟฟ้าจำนวนมาก ทำให้มีค่าใช้จ่ายในส่วนของค่าไฟสูง และยังก่อให้เกิดมลพิษ ส่งผลกระทบต่อภาวะโลกร้อน แต่การใช้โซลาร์เซลล์ผลิตพลังงานสะอาดจากธรรมชาติ จะช่วยลดปัญหาสิ่งแวดล้อม และประหยัดค่าไฟไปได้มากเลยทีเดียว ทำให้ผู้ประกอบการหลายเจ้าเริ่มหันมาให้ความสนใจ และทำการติดตั้งโซลาร์เซลล์กันมากขึ้น 

เลือกโซลาร์เซลล์อย่างไรให้เหมาะกับการใช้งาน 

ระบบโซลาร์เซลล์สามารถแบ่งออกเป็น 3 ระบบหลัก ๆ ดังนี้ 

  1. ระบบออนกริด On grid คือ ระบบที่ผลิตไฟฟ้าแล้วใช้ได้เลย เป็นกระแสไฟฟ้าที่ได้จากการไฟฟ้า และไฟฟ้าที่ผลิตจากแผลโซลาร์เซลล์ ไม่มีแบตเตอรี่สำรองไฟ เหมาะสำหรับการติดตั้งบ้านพักอาศัย ที่ต้องใช้ไฟฟ้าในช่วงเวลากลางวันมาก และจะต้องทำการขออนุญาตการไฟฟ้าก่อนทำการติดตั้ง อีกทั้งยังเป็นระบบที่นิยมมากที่สุดของการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ในปัจจุบัน 

  1. ระบบออฟกริด Off grid คือ ระบบโซลาร์เซลล์ที่ไม่เชื่อมต่อกับการไฟฟ้า โดยแผงโซลาร์เซลล์ผลิตกระแสไฟฟ้าแล้วใช้ได้ทันทีในช่วงกลางวันที่มีแดด และกักเก็บที่เหลือไว้ในแบตเตอรี่ สำรองไว้ใช้ในตอนกลางคืน หรือเรียกว่าระบบ Stand Alone เหมาะกับการติดตั้งในสถานที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ห่างไกล การไฟฟ้าเข้าไม่ถึง เช่น บนดอยสูง หรือใกล้ป่าไม้ สามารถติดตั้งระบบออฟกริดได้ โดยไม่ต้องขออนุญาตจากการไฟฟ้า 

  1. ระบบไฮบริด Hybrid คือ ระบบการผลิตไฟฟ้าที่ผสมผสานระหว่าง ระบบ On grid และ ระบบ Off grid โดยมีการเชื่อมต่อไฟจากการไฟฟ้า ร่วมกับการใช้ไฟที่ผลิตจากแผงโซลาร์เซลล์ และไฟจากแบตเตอรี่ หากมีการผลิตกระแสไฟฟ้าได้มากกว่าการใช้งาน กระแสไฟฟ้าที่เหลือจะถูกส่งไปเก็บไว้ที่แบตเตอรี่ สามารถดึงไฟมาใช้ในช่วงเวลากลางคืนได้ แต่การติดตั้งโซลาร์เซลล์ระบบไฮบริดราคาค่อนข้างสูง อีกทั้งยังไม่สามารถขายกระแสไฟฟ้าให้กับการไฟฟ้าและภาครัฐได้ จึงไม่ค่อยได้รับความนิยม 

ติดตั้งโซลาร์เซลล์อย่างไรให้มีประสิทธิภาพ

หลายครั้งที่การติดตั้ง Solar cell ไม่ได้ศักยภาพดีเท่าที่ควร ไม่ว่าจะเป็น Solar panel ผลิตกระแสไฟฟ้าไม่เพียงพอ หรือไม่ผลิตกระแสไฟ ค่าไฟไม่ลดลง ฯลฯ ปัญหาเหล่านี้อาจเกิดจากระบบการวางแผงโซลาร์เซลล์ ติดตั้งในมุมองศาไม่ถูกต้อง  โดยองศาที่ทำมุมถูกต้องจะพิจารณาจากละติจูดทางภูมิศาสตร์ของแต่ละพื้นที่ด้วย ซึ่งการติดตั้งโซลาร์เซลล์แบบ Solar Tracker จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพให้โซลาร์เซลล์ผลิตกระแสไฟฟ้าได้มากที่สุด 

การติดตั้งแบบ Solar Tracker คืออะไร 

Solar Tracker เป็นระบบติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ให้หันไปตามดวงอาทิตย์ สามารถเก็บแสงแดดได้ตลอดเวลา ช่วยให้แผงโซลาร์เซลล์สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าจากแสงแดดได้เพิ่มขึ้น 20 – 30% สามารถติดตั้งได้ทุกพื้นที่ ทั้งการติดตั้งบนหลังคาบ้าน ที่พักอาศัย หรืออาคารพาณิชย์ และระบบอุตสาหกรรม ช่วยประหยัดเนื้อที่ และประหยัดค่าใช้จ่ายได้ดี ระบบ Solar Tracker มี 2 รูปแบบด้วยกัน ได้แก่ 

  1. Single Axis Tracking System เป็น Solar Tracker แบบแกนเดียว คือ ระบบหมุนตามดวงอาทิตย์จากทิศตะวันออกไปทิศตะวันตก 

  1. Dual Axis Tracking System เป็น Solar Tracker แบบแกนคู่ คือ ระบบแกนแรกจะหมุนตามดวงอาทิตย์จากทิศตะวันออกไปทิศตะวันตก และแกนที่สองจะปรับให้หมุนจากแนวทิศเหนือไปทิศใต้ ช่วยให้แผงโซลาร์เซลล์สามารถรับแสงแดดได้มากที่สุด 

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์จะมีประโยชน์ ช่วยลดค่าไฟ ประหยัดการใช้พลังงาน และดีต่อสิ่งแวดล้อม แต่การจะใช้ประโยชน์ของโซลาร์เซลล์ให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด ควรศึกษาข้อมูลและปรึกษาผู้เชี่ยวชาญก่อนตัดสินใจซื้อและติดตั้ง เพราะหากติดตั้งโซลาร์เซลล์ไม่ถูกต้อง ผลเสียจากการติดตั้งระบบไฟฟ้าที่ได้ตามมาอาจไม่คุ้มค่ากับเงินที่เสียไป