5 สมุนไพรล้างหลอดเลือด 

T

ปฏิเสธไม่ได้ว่า สมุนไพรไทย ได้รับการยอมรับขยายเป็นวงกว้างมากขึ้นในปัจจุบัน มีการนำสมุนไพรมาเป็นส่วนผสมในอาหาร เครื่องดื่ม เครื่องสำอาง เครื่องใช้ในบ้าน เช่น สบู่ ยาสระผม เป็นต้น และการใช้สมุนไพรรักษาโรคในทางการแพทย์มากขึ้น บทความนี้เราจะมากล่าวถึงของเรื่องสมุนไพรล้างไขมันในเลือด ซึ่งพบผู้ป่วยภาวะไขมันในเลือดสูงมากขึ้นเรื่อย ๆ ในประเทศไทย และอีกหลายประเทศทั่วโลก โดยโรคหลอดเลือดและภาวะไขมันในเส้นเลือดนั้นสามารถพบได้ในทุกเพศทุกวัย ตั้งแต่วัยเด็ก วัยหนุ่มสาว หรือผู้สูงอายุ 

บทความนี้จึงเป็นความภูมิใจในฐานะคนไทย ที่สมุนไพรไทยมีบทบาทมากขึ้นจนเป็นที่ยอมรับและเป็นที่ต้องการในหลาย ๆ ประเทศ เพราะได้มีผลวิจัยออกมาหลายแห่งด้วยกัน ซึ่งพวกเขาต่างยอมรับว่าสมุนไพรไทยที่มีคู่บ้านคู่เมืองของเรามาแต่โบราณนั้นมีสรรพคุณมากมายที่ไม่ควรมองข้าม!  

เชื่อไหมว่า 5 สมุนไพรไทย ที่เราจะกล่าวถึงต่อไปนี้ เป็นสมุนไพรที่คนไทยส่วนใหญ่รู้จักกันดีอยู่แล้ว แต่ก่อนจะไปรู้ถึงสมุนไพรล้างหลอดเลือดมีตัวไหนบ้าง เราไปทำความเข้าใจภาวะไขมันในเลือดกันสักนิดก่อนดีกว่าค่ะ 

ภาวะไขมันในเลือดสูงคืออะไร 

ภาวะไขมันในเลือดสูง คือ ระดับไขมันในเลือดผิดปกติ (Dyslipidemia) ซึ่งจะมีปริมาณสารต่อไปนี้มากหรือน้อยกว่าเกณฑ์ที่ส่งผลต่อสุขภาพ 

  • โคเลสเตอรอลสูงกว่า 200 มิลลิกรัม / เดซิลิตร 
  • ระดับไขมันดี หรือ HDL-Cholestero (HDL-C) น้อยกว่า 40 มิลลิกรัม / เดซิลิตร 
  • ระดับไขมันเลว หรือ LDL-Cholesterol มากกว่า 130 / เดซิลิตร 
  • ระดับไตรกรีเซอรไรด์ มากกว่า 150 มิลลิกรัม / เดซิลิตร 

หากร่างกายมีไขมันเลวมาก จะทำให้เสี่ยงต่อการเกิดภาวะหลอดเลือดอุดตัน ส่งผลให้เกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ หลอดเลือดสมองตีบ แตก ตัน แต่ถ้ามีไขมันดีสูงจะช่วยเก็บไขมันส่วนเกินส่งกลับไปทำลายที่ตับ 

การรักษาโรคทางการแพทย์แผนปัจจุบันอาจไม่ได้ผล 100% แต่จะต้องอาศัยควบคู่ไปกับการลดทานอาหารที่มีไขมันสูง เช่น ของทอด ของมัน กะทิ น้ำอัดลม เครื่องในสัตว์ หรือแม้แต่น้ำผลไม้ ที่มีการปรุงด้วยน้ำตาลในปริมาณมาก จนกลายเป็นพลังงานในอาหารสูงเกินไป หากไม่มีการออกกำลังกาย หรือระบบการเผาผลาญพลังงานในร่างกายเสื่อมประสิทธิภาพในผู้สูงวัย ทำให้พลังงานที่เรากินเข้าไปในรูปของอาหารเหล่านั้น ถูกสะสมในรูปของไขมัน เกาะตามหลอดเลือดและอวัยวะส่วนต่าง ๆ และเมื่อไขมันสะสมเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้หลอดเลือดตีบลง จนเลือดไหลเวียนไม่สะดวก เป็นสาเหตุของอาการมึนหัว ปวดศีรษะ หน้ามืด เป็นลม บ้านหมุน แขนขาอ่อนแรง และถ้าไขมันมีจำนวนมากปิดทางเดินหลอดเลือด ส่งผลให้หลอดเลือดอุดตัน เลือดไม่สามารถเดินทางไปยังอวัยวะส่วนต่าง ๆ ส่งผลกระทบต่ออวัยวะทุกส่วน โดยเฉพาะหัวใจและสมอง  

ดังนั้นเมื่อมีการนำสมุนไพรไปวิจัย เพื่อนำคุณประโยชน์สมุนไพรไทยช่วยลดไขมันหลอดเลือด และพบว่าสมุนไพรต่อไปนี้ สามารถช่วยลดไขมันได้จริง ได้แก่ 

1. กระเทียม 

กระเทียมที่มีอยู่ในครัวไทยทุกบ้าน กลับมีผลวิจัยยืนยันว่า การกินกระเทียมสดวันละ 1-2 กลีบ หรือ กินในรูปแบบผงกระเทียม 600-900 มิลลิกรัม ต่อเนื่องเป็นเวลา 2 เดือนขึ้นไป จะช่วยให้ไขมันโคเลสเตอรอลและไตรกลีเซอรไรด์ลดลง โดยช่วยลดไขมันโคเลสเตอรอลได้ 12% และลดไตรกลีเซอรไรด์ได้ 16-17% หากกินกระเทียมเป็นเวลา 16 สัปดาห์ 

ข้อระวัง : ระมัดระวังในการกินกระเทียมสกัด ควรศึกษาข้อมูลให้ละเอียด และควรระวังการกินกระเทียมในผู้ป่วยที่ต้องกินยาละลายลิ่มเลือด เพราะสรรพคุณของกระเทียมอาจไปกระตุ้นฤทธิ์ยาละลายลิ่มเลือดให้สูงเกินไป โดยเฉพาะยาวาร์ฟาริน ดังนั้น ในกรณีดังกล่าวควรทำการปรึกษาแพทย์ที่ให้การรักษาจะดีที่สุด 

2. ขิง 

ขิง พืชสมุนไพรคู่ครัวไทยอีกเช่นกัน นอกจากจะช่วยเพิ่มรสชาติในอาหารและเครื่องดื่ม แต่สรรพคุณของขิงช่วยลดระดับไขมันโคเลสเตอรอล ไตรกลีเซอไรด์ และป้องกันการเกาะกลุ่มของเกล็ดเลือด ป้องกันการอุดตันหลอดเลือดได้ดีอีกด้วย โดยการศึกษาข้อมูลและวิจัยของต่างประเทศพบว่า การรับประทานขิงแคปซูลวันละ 3 กรัม ติดต่อกันเป็นเวลา 45 วัน จะให้ผลตามที่กล่าวมาเบื้องต้น 

ข้อระวัง : ขิงมีข้อควรระมัดระวังในการกินเช่นเดียวกับกระเทียม รวมไปถึงการกินขิงในผู้ป่วยที่ต้องกินยาละลายลิ่มเลือด เพราะขิงมีฤทธิ์ที่อาจไปกระตุ้นยาละลายลิ่มเลือดเช่นกัน  

3. กระเจี๊ยบแดง 

กระเจี๊ยบแดงมีสารแอนโทไซยานิน ซึ่งสารชนิดนี้ช่วยลดระดับไขมันชนิดไตรกลีเซอไรด์ได้ดี โดยจะลดโคเลสเตอรอล ลดไขมันเลว (LDL) แต่เพิ่มไขมันดี (HDL) โดยแนะนำว่า ควรดื่มชากระเจี๊ยบวันละ 2 เวลา ติดต่อกันอย่างน้อย 1 เดือนขึ้นไป  

4.ตรีผลา 

มหาตรีผลา หรือ ตรีผลา คือ สมุนไพรที่ประกอบไปด้วยผลไม้ 3 ชนิด ได้แก่ 

  • สมอไทย : ลดไข้ แก้ไอ แก้เจ็บคอ แก้พิษร้อนใน ช่วยระบายอ่อน ๆ 
  • สมอพิเภก : ต้านเชื้อแบคทีเรีย ไวรัส เชื้อรา แก้ไอ ขับเสมหะ ช่วยให้ชุ่มคอ แก้ไข้อาการต่ำ ๆ 
  • มะขามป้อม : มีวิตามินซีสูง เสริมภูมิคุ้มกัน ต้านอนุมูลอิสระ แก้ไอ แก้เจ็บคอ ยับยั้งไวรัสแบ่งเซลล์ 

เมื่อรวมผลไม้ทั้ง 3 เข้าด้วยกัน จะช่วยกระตุ้นภูมิคุ้มกัน ต้านอนุมูลอิสระ บรรเทาอาการไข้ต่ำ ๆ (มีน้ำมูกและเสมหะ) ได้เป็นอย่างดี ช่วยลดระดับไขมันโคเลสเตอรอลและไตรีกลีเซอไรด์ และยังช่วยรักษาภาวะไขมันพอกตับได้อีกด้วย โดยจะต้องทานต่อเนื่องอย่างน้อยคืนละ 1 แก้ว  

ส่วนประกอบตรีผลา : สมอไทย 150 กรัม / สมอพิเภก 110 กรัม / มะขามป้อม 250 กรัม / น้ำสะอาด 5-6 ลิตร / น้ำผึ้งและเกลือเล็กน้อย (ปริมาณตามชอบ)  

วิธีทำน้ำสมุนไพรตรีผลา : นำสมุนไพรทั้ง 3 ชนิด ต้มด้วยน้ำสะอาดที่เตรียมไว้ จนกระทั่งเดือดแล้วต้มต่อประมาณ 30 นาที จากกรองด้วยผ้าขาวบาง เติมน้ำผึ้งและเกลือตามชอบ 

วิธีดื่มน้ำสมุนไพรตรีผลา : ดื่มขณะอุ่น ๆ 

5. ดอกคำฝอย 

คนสมัยก่อน มักจะนำดอกคำฝอยใช้แต่งสีอาหาร เพราะในดอกคำฝอยมีสาร Carthamin และ Sunflower yellow ให้สารสีเหลืองส้ม ทำให้อาหารมีสีสวย น่ารับประทาน โดยการนำกลีบดอกคำฝอยแช่ในน้ำร้อน แต่ในดอกคำฝอยนั้นมีน้ำมันระเหย ที่เรียกกันว่า น้ำมันเมล็ดดอกคำฝอย ซึ่งมีส่วนประกอบของกรดไขมันชนิดไม่อิ่มตัวหลายชนิดด้วยกัน ซึ่งช่วยส่งผลต่อการลดระดับโคเลสเตอรอลและไขมันเลว ช่วยป้องกันโรคหัวใจ และการอุดตันของไขมันในเลือด โดยมีการแนะนำให้ทานชาดอกคำฝอยวันละ 1 ซอง ก่อนนอน หรือช่วงประมาณ 17.00 – 18.00 น. เป็นต้นไป