คุณผู้ชายทุกท่านทราบหรือไม่ว่า มะเร็งช่องปาก เป็นโรคมะเร็งร้ายใกล้ตัวที่พบได้บ่อยในคนไทย โดยเฉพาะในเพศชาย โดยสถาบันมะเร็งแห่งชาติประเทศไทยได้รวบรวมสถิติข้อมูลมะเร็งระหว่าง พ.ศ.2559 – 2561 พบมีผู้ป่วยมะเร็งช่องปากเฉลี่ยวันละ 11 คน พบได้บ่อยใน 10 อันดับแรกของมะเร็งทั่วร่างกาย และพบได้มากเป็นอันดับ 6 ของโรคที่พบในชายไทย
ตำแหน่งใดที่มักพบมะเร็งช่องปาก
มะเร็งช่องปาก คือ เนื้องอกชนิดร้ายแรงที่เกิดขึ้นที่ริมฝีปากและบริเวณต่าง ๆ ภายในช่องปาก ซึ่งตำแหน่งที่มักพบมะเร็งช่องปาก ได้แก่
- ริมฝีปาก
- ลิ้น
- ใต้ลิ้น
- ลิ้นไก่
- ต่อมทอนซิล
- เหงือก
- กระพุ้งแก้ม
- พื้นช่องปาก
- เพดานปาก
- กระดูกขากรรไกร
- ลำคอส่วนบน
มะเร็งช่องปาก สาเหตุเกิดจากอะไร
- สูบบุหรี่ สูบยาเส้น
- ดื่มแอลกอฮอล์
- เคี้ยวหมาก พลู เป็นประจำ
- ใส่ฟันปลอมที่มีขนาดไม่พอดี
- มีแผลเรื้อรังในช่องปาก
- มีฟันผุเป็นประจำ
- สุขภาพภายในปากไม่ดี
- มีฟันที่แหลมคมเกินไป
- โดนแสงแดดโดยตรงมากเกินไปหรือเป็นประจำ (เสี่ยงต่อมะเร็งริมฝีปาก)
โรคมะเร็งช่องปาก สังเกตได้อย่างไร
มะเร็งช่องปากมีหลายชนิด แต่ที่พบได้บ่อยที่สุด คือ ชนิด Squamous cell carcinoma เกิดจากเซลล์ของเยื่อบุผิวช่องปาก และมีได้หลายอาการ ขึ้นอยู่กับตำแหน่งที่เป็น และสามารถสังเกตสัญญาณเตือนได้ดังนี้
- มีก้อนนูน ฝ้าขาว หรือ เป็นรอยปื้นแดงในช่องปาก
- มีอาการชา หรือเจ็บบริเวณใบหน้า ปาก และลำคอ โดยไม่มีสาเหตุ
- มีแผลเรื้อรังในช่องปาก เป็นนานมากกว่า 3 สัปดาห์
- มีเลือดออกผิดปกติในช่องปาก
- ปวดในช่องปาก หรือ ปวดหู
- ฟันโยก ฟันคลอน หรือ ฟันหลุด
- มีก้อนที่คอ เคี้ยวอาหารและกลืนลำบาก
- หุบปาก อ้าปากลำบาก
- ต่อมน้ำเหลืองใต้คางและลำคอโต ลูบคลำไม่เจ็บ
- แผลถอนฟันไม่หายในเวลา 1 เดือน
- น้ำหนักลด มีอาการอ่อนเพลีย
โรคมะเร็งช่องปากหายไหม
หากพบอาการผิดปกติและรีบเข้าทำการรักษาตั้งแต่ระเร็งช่องปากระยะแรก ๆ จะมีโอกาสรักษาได้หายขาด และมีผลกระทบต่อกิจวัตรประจำวันน้อยมาก หรือแม้แต่มะเร็งช่องปากระยะสุดท้าย แต่ถ้าหากรอยโรคยังไม่แพร่กระจายไปยังบริเวณสำคัญอื่น ๆ ในร่างกาย เช่น ปอด ก็สามารถมีโอกาสรักษามะเร็งช่องปากหายได้เช่นกัน แต่ทั้งหมดต้องขึ้นอยู่กับตำแหน่งของมะเร็ง ระยะของโรค และอาการของโรค เป็นองค์ประกอบ
มะเร็งช่องปาก วิธีรักษาทำอย่างไร
- ผ่าตัด : มักจะใช้รักษามะเร็งช่องปากระยะแรก – มะเร็งช่องปากระยะที่ 3
- รังสีรักษา : การใช้รังสีเข้าไปทำลายเซลล์มะเร็งแบบเฉพาะที่ หรือบริเวณต่อมน้ำเหลืองที่คอ ช่วยให้ผู้ป่วยสามารถเคี้ยว กลืน และออกเสียงได้เป็นปกติขึ้น
- ยาเคมีบำบัด : การให้ยาเคมีบำบัดมักจะใช้ควบคู่กับการใช้รังสีรักษา หรือควบคู่ไปกับการผ่าตัด เนื่องจากปัจจุบันการใช้ยาเคมีบำบัดเพียงอย่างเดียวแทบจะไม่ได้ผล หรือได้ผลน้อยมาก
วิธีป้องกันมะเร็งช่องปากด้วยตนเองแบบง่าย ๆ
- งดสูบบุหรี่
- งดดื่มแอลกอฮอล์
- งดการเคี้ยวหมาก
- เลือกขนาดฟันปลอมให้พอดีกับเหงือก
- ตรวจสุขภาพช่องปากและฟันทุก ๆ 6 เดือน