วันนี้เป็นวันของผู้หญิงทั่วโลก เนื่องจากวันที่ 8 มีนาคม คือ วันสตรีสากล เป็นวันที่ทั่วโลกให้ความสำคัญและร่วมฉลองให้กับผู้หญิงทุกคน เพื่อระลึกและตระหนักในบทบาทของผู้หญิงที่มีต่อการขับเคลื่อนสังคมและเศรษฐกิจ และในปีนี้ วันสตรีสากล 2566 ตรงกับวันพุธที่ 8 มีนาคม ซึ่งก็คือวันนี้นั่นเอง
โดยในทุกวันที่ 8 มีนาคม ของทุกปี ถูกจัดให้เป็นวัน สตรีสากล ภาษาอังกฤษ International Women’s Day ทำให้วันนี้มีการเฉลิมฉลองให้กับความเสมอภาค ความเท่าเทียมกัน รวมไปถึงความสำเร็จและความก้าวหน้าในด้านสังคม การเมือง และเศรษฐกิจ ของผู้หญิงทั่วโลก โดยเฉพาะในยุโรป ผู้หญิงจะได้รับการปรนนิบัติอย่างดี ในขณะที่ทางฝั่งอิตาลีนั้น ผู้ชายจะมอบดอกมิโมซาสีเหลือง อันเป็นดอกไม้สัญลักษณ์ประจำวันสตรีสากล อาจมอบให้กับแม่ ญาติพีน้องผู้หญิง หรือเพื่อนหญิง นอกจากนี้วันสตรีสากลยังถูกกำหนดให้เป็นวันหยุดราชการในหลายประเทศทั่วโลก ส่วนในประเทศจีน ลูกจ้างหญิงจะได้รับสิทธิ์ให้ทำงานเพียงครึ่งวันอีกด้วย
ต้องยอมรับว่าผู้หญิงมีความสามารถ อดทน และแข็งแกร่ง ภายใต้ความอ่อนโยน สาว ๆ ว่าจริงไหมคะ เพราะไมว่าจะบทบาทไหน ผู้หญิงสามารถทำได้ และทำได้ดีด้วย ไม่ว่าจะในบทของนักการเมือง ผู้บริหาร บุคคลากรทางการแพทย์ นักบิน ครู หรือแม้แต่ในบทของการเป็นแม่ โดยเฉพาะผู้หญิงยุคนี้ ความสามารถล้นเหลือ สามารถครองตำแหน่งและทำงานได้เคียงบ่าเคียงไหล่ไปกับผู้ชาย เผลอ ๆ ทำได้ดีกว่าผู้ชายหลาย ๆ คนเสียอีก ซึ่งผู้ชายส่วนใหญ่ในปัจจุบันให้การยอมรับกับความสามารถของผู้หญิงมากขึ้น เพราะผู้หญิงอย่างเราพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า ในขณะที่ต้องสวมบทบาท “แม่” คอยดูแลและสั่งสอนลูกให้กลายเป็นกำลังของชาติในอนาคต ปรนนิบัติดูแลสามีในบทบาทของภรรยา และดูแลบ้านในบทบาท “แม่บ้าน” แต่ก็ยังสามารถสวมบทบาทการทำงานนอกบ้านได้ดีในเวลาเดียวกัน
แต่ทุกคนรู้ไหมคะ แม้ว่าองค์การสหประชาชาติ (UN) จะกำหนดและรับรองให้ วันสตรีสากล คือวันสำคัญประจำปีของโลก แต่กว่าจะมีวันที่ผู้หญิงได้ประกาศศักดาแห่งศักยภาพก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยนะ เพราะผู้หญิงในรุ่นบุกเบิกของการทวงสิทธิ์ ทวงความเสมอภาคและอิสระภาพให้แก่ผู้หญิงได้ขึ้นมาผงาดได้จนถึงทุกวันนี้ ต้องต่อสู้และฟันฝ่าอุปสรรคต่าง ๆ นา ๆ จากการกีดกันของผู้ชายบ้าอำนาจ ที่ดูถูกและต้องการกดความสามารถของเพศหญิงในสมัยก่อนไม่ให้เสมอขึ้นมาเทียบเท่าผู้ชาย จนมีเหตุโศกนาฏกรรมคนตายกว่าร้อยศพ ในช่วงระหว่างที่มีการเรียกร้องสิทธิ์สตรี! หากใครอยากรู้ว่าเกิดอะไรขึ้น เราจะย้อนไปดูประวัติวันสตรีสากล จุดเริ่มต้นของการพลิกบทบาทและความเสมอภาคของเพศสตรีกันค่ะ
จุดกำเนิดดั้งเดิมอันเก่าแก่ที่สุดเกิดในประเทศสหรัฐอเมริกา โดยย้อนกลับในอดีตที่ผู้หญิงถูกจำกัดบทบาทและสถานะทางสังคมแถมยังถูกกำหนดให้อยู่แต่ในบ้าน มีหน้าที่ดูแลการงานในบ้านเท่านั้น แต่เมื่อถึงยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม ผู้หญิงสามารถออกมาทำงานนอกบ้านได้ แต่ก็ยังมิวายโดนจำกัดบทบาท อีกทั้งค่าแรงที่ไม่สอดคล้องกับระยะเวลาในการทำงาน สวัสดิการต่าง ๆ ก็ไม่ได้เหมือนแรงงานชาย แถมยังโดนกดขี่ทางเพศ หากไม่ยอมก็จะโดนทำร้ายร่างกาย และถ้าแรงงานหญิงคนไหนตั้งครรภ์ จะถูกไล่ออกจากงาน (โอ้วว มายก๊อดดด)
จนกระทั่งในวันที่ 8 มีนาคม 1857 กลุ่มแรงงานสาวโรงงานเย็บผ้าหมดความอดทน จึงได้รวมตัวกันลุกฮือเดินขบวนเรียกร้องสิทธิความเท่าเทียมของตน ให้นายจ้างเพิ่มค่าแรงและสวัสดิการ เนื่องจากได้รับค่าแรงที่ไม่เป็นธรรม ในขณะที่พวกเธอต้องทำงานหนักถึงวันละ 16 – 17 ชั่วโมง โดยไม่มีวันหยุด ไม่มีประกันสังคม ทำให้แรงงานหญิงเสียชิวิตจากปัญหาสุขภาพเป็จำนวนมาก รวมไปถึงเรียกร้องความเป็นธรรมด้านมนุษยธรรม ความไม่เท่าเทียมที่ผู้หญิงได้รับจากการกดขี่ทางเพศ แต่ชะตากรรมเล่นตลก เพราะมีแรงงานหญิง 119 คน เสียชีวิตจากการลอบวางเพลิงโรงงานทอผ้า จากการประท้วงของพวกเธอในครั้งนั้น ไม่เพียงแค่นั้น ยังมีการใช้กำลังกับกลุ่มแรงงานหญิงเพื่อสลายชุมนุมอีกด้วย
ต่อมาในวันที่ 8 มีนาคม 1907 นักเคลื่อนไหวการเมืองสายมาร์กซิสต์และอัตถินิยมเพื่อสิทธิสตรี คลารา เซทคิน (Clara Zetkin) ชาวเยอรมัน ได้ปลุกระดมให้กลุ่มแรงงานหญิงจำนวนกว่า 15,000 คน ประท้วงหยุดงานเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมและสิทธิ์ของสตรี และสาเหตุที่เลือกวันที่ 8 มีนาคม เนื่องจากคำแนะนำของ เทเรซ่า (Theresa Malkiel) เพื่อระลึกถึงกลุ่มแรงงานสาวโรงงานเย็บผ้าในข้างต้น
จนกระทั่งปี ค.ศ.1910 ได้มีการจัดประชุมสมัชชาแรงงานสตรี ณ ประเทศเดนทาร์ก และนับว่าเป็นครั้งแรกที่มีการแต่งตั้งตัวแทนแรงงานหญิง จำนวน 100 คน จาก 17 ประเทศทั่วโลก และทั้งหมดต่างมีมติเป็นเอกฉันท์ให้มีการจัดตั้ง “วันแรงงานสตรีสากล” เพื่อเรียกร้องสิทธิและความเท่าเทียมของเพศหญิงในบทบาทต่าง ๆ มากขึ้น ก่อนเปลี่ยนชื่อเป็น “วันสตรีสากล” และมีการเฉลิมฉลองครั้งแรกที่ประเทศออสเตรีย เยอรมัน เดนมาร์ก และ สวิตเซอร์แลนด์ เมื่อปี ค.ศ.1911 โดยมีประชากรทั้งหญิงและชายมากกว่า 1 ล้านคนเข้าร่วมเฉลิมฉลอง ก่อนที่จะมีอีกหลายประเทศ รวมถึงประเทศรัสเซียได้เข้าร่วมและส่งเสริมให้มีการจัดงานวันสตรีสากลขึ้นในปี ค.ศ. 1913
ต่อมาในปี ค.ศ.1975 องค์การประชาชาติ หรือ UN ได้ประกาศรับรองให้วันสตรีสากลเป็นวันสำคัญของโลกอย่างเป็นทางการ และได้มีการตั้งคำขวัญประจำปีขึ้นเป็นครั้งแรก คือ “เฉลิมฉลองอดีต และวางแผนเพื่ออนาคต” โดยจัดให้มีงานฉลองและกิจกรรมวันสตรีสากลในวันที่ 8 มีนาคม ของทุกปี และทางสหภาพสังคมและการเมืองสตรี หรือ WSPU (Women’s Social and Political Union) ได้กำหนดสีประจำวันสตรีสากล คือ สีม่วง สีขาว และ สีเขียว ขึ้นในสหราชอาณาจักรเมื่อปี ค.ศ.1908 โดยแต่ละสีมีความหมายที่แตกต่างกันไป
วันสตรีสากลในไทย
ในประเทศไทยเองก็ได้เล็งเห็นความสำคัญและตระหนักถึงบทบาทของผู้หญิงเช่นกัน ได้จัดให้มีวันสตรีสากลในไทยขึ้นเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ.2532 โดยคณะกรรมการส่งเสริมและประสานงานสตรีแห่งชาติ หรือ กสส. สังกัดสำนักงานปลัด สำนักนายกรัฐมนตรี ได้มีการปรับกฏหมายแรงงานของสตรีให้มีความสอดคล้องตามรูปแบบของสมาชิกองค์การสหประชาชาติ และมีกิจกรรมวันสตรีสากล มีการมอบรางวัลให้แก่ผู้หญิงในสายสาขาอาชีพต่าง ๆ ที่ทำประโยชน์แก่สังคม อาทิเช่น แพทย์หญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ , คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธ์ุ ที่เรารู้จักกันดีในบทบาททางด้านเมือง และสิทธิสตรีไทย
ดอกไม้ประจำวันสตรีสากล คือ ดอกมิโมซาสีเหลือง (Mimosa) โดยมีความหมายสื่อถึง ความอ่อนโยนของผู้หญิงแต่ในขณะเดียวกันก็มีความแข็งแกร่งอยู่ในตัว เพราะดอกมิโมซาเป็นดอกไม้ที่เติบโตในช่วงฤดูหนาว และสามารถอยู่รอดได้ท่ามกลางอากาศที่หนาวจัด และบานสะพรั่งในเดือนมีนาคมซึ่งเป็นเดือนที่มีการเฉลิมฉลองวันสตรีสากลนั่นเอง แต่บางประเทศใช้ดอกไม้ชนิดอื่นเพื่อใช้เป็นสัญลักษณ์วันสตรีสากลเช่นกัน เช่น ดอกทิวลิป ดอกกุหลาบ เป็นต้น
เป็นอย่างไรบ้างคะกับประวัติความเป็นมาโดยสังเขปที่เรานำมาฝากในวันนี้ กับความขมขื่นที่เพศหญิงได้รับในอดีต ดังนั้น ขอให้สาว ๆ ทั้งหลาย จงภาคภูมิใจในความเป็นตัวตน ประกาศศักยภาพของผู้หญิง ด้วยการสร้างบทบาท ขับเคลื่อนความเท่าเทียมและสิทธิสตรีเพศอย่างถูกต้อง และขอให้ทุกคนฉลองให้เต็มที่ในวันแห่งสตรีสากล เพราะวันนี้คือวันของผู้หญิงทุกคน