ปัจจุบัน การนวดแผนไทยเพื่อสุขภาพ มีควบคู่มากับคนไทยมาอย่างช้านาน ตั้งแต่บรรพบุรุษหลายสมัย และยังคงได้รับความนิยมขึ้นเรื่อย ๆ ในปัจจุบัน แถมยังสร้างชื่อเสียงไปไกลถึงต่างแดน จนทำให้มีธุรกิจนวดแผนไทยในหลายประเทศ ไม่แพ้ในเมืองไทย ที่นับวันก็ยิ่งมีผู้ใช้บริการนวดแผนไทยเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะวัยคนทำงาน พนักงานออฟฟิศ ที่มักต้องหาเวลาว่างไปนวดเพื่อรักษาอาการ หรือนวดผ่อนคลายจากความเหนื่อยล้าที่เกิดจากการทำงานและกิจวัตรประจำวัน
นวดแผนไทย คือ การนวดแผนโบราณที่ใช้เพื่อการรักษา ซึ่งเรียกว่า หัตถเวชกรรมไทย โดยมีวิธีการกด เคาะ คลึง นวด ดัด ดึง ทุบ และ สับ รวมถึง การอบ และ ประคบร้อน เพื่อให้เลือดลมในร่างกายได้ไหลเวียนสะดวกและสมดุล ซึ่งสามารถใช้บำบัดและรักษาอาการเจ็บป่วย ได้มากกว่าเพียงแค่การผ่อนคลายเท่านั้น
นวดไทยมีกี่ประเภท และ ประโยชน์ของการนวดแผนไทยในแต่ละประเภท
เราสามารถแยกประเภทการนวดแผนไทยจากลักษณะการนวด โดยการแบ่งประเภทการนวดแบบโบราณ จะมี 2 ประเภทด้วยกัน คือ การนวดแบบราชสำนัก และ การนวดแบบเชลยศักดิ์ นอกจากนี้ยังสามารถแบ่งประเภทการนวดแผนไทยตามสรรพคุณได้ 4 ประเภทด้วยกัน ได้แก่
- การนวดเพื่อป้องกันโรค คือ การนวดเพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยที่ไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ หรือช่วยเหลือตนเองได้น้อย เช่น ผู้ป่วยติดเตียง ผู้ป่วยที่มีแผลกดทับ ผู้ป่วยที่มีเสมหะอุดตันในหลอดลม หรือมีเสมหะในปอด เป็นต้น
- การนวดเพื่อบำบัดรักษา คือ การนวดเพื่อรักษาโรค หรือบรรเทาอาการเจ็บป่วย เช่น อาการปวดกล้ามเนื้อจากการทำงานหนัก ยกของผิดท่า โรคที่มีอาการปวดคอ ปวดไหล่ ปวดศีรษะ ไมเกรน โรคเครียด โรคนอนไม่หลับ โรคหลอดเลือดสมอง ออฟฟิศซินโดรม ไหล่ติด เข่าตึง มีพังผืด อาการกล้ามเนื้ออ่อนแรงจากอัมพฤกษ์ อัมพาต ด้วยการนวดกดจุด นวดคลายกล้ามเนื้อ นวดด้วยน้ำมัน หรือ การประคบด้วยสมุนไพร
- การนวดเพื่อฟื้นฟูสมรรถภาพ คือ การนวดเพื่อให้ร่างกายกลับสู่ภาวะปกติ โดยการนวดแผนไทยจะช่วยลดอาการเกร็งของกล้ามเนื้อ ช่วยให้ร่างกายของผู้ป่วยฟื้นตัวได้เร็วขึ้น จนอาจสามารถกลับไปใช้ชีวิตได้ปกติ ซึ่งเหมาะกับผู้ป่วยโรคเรื้อรัง เช่น โรคอัมพฤกษ์ อัมพาต พาร์กินสัน
- การนวดเพื่อสุขภาพ คือ การนวดเพื่อผ่อนคลายร่างกายและจิตใจ ช่วยคลายเส้นเอ็นที่ตึงให้หย่อนลง เลือดลมไหลเวียนได้สะดวก เพิ่มความยืดหยุ่นให้กับร่างกาย รู้สึกโล่งและสบาย
นอกจากนี้ ประโยชน์จากการนวดแผนไทยยังช่วยบรรเทาอาการปวดตึงตามข้อ ช่วยให้จิตใจผ่อนคลาย รู้สึกสงบ หรือ รู้สึกกระปรี้กระเปร่า มีพลังมากขึ้นหลังจากการนวด
ใครที่ไม่ควรนวดแผนไทย
เนื่องจากการนวดแผนไทยจะมีผลต่อการไหลเวียนของเลือด ลม และ กล้ามเนื้อในร่างกาย จึงอาจไม่เหมาะกับบางบุคคล และผู้ที่มีโรคประจำตัวบางชนิด ได้แก่
- ผู้ป่วยโรคหัวใจ หรือ หลอดเลือดหัวใจ
- ผู้ป่วยโรคเบาหวาน
- ผู้ป่วยโรคมะเร็ง
- ผู้ป่วยโรคเลือด
- ผู้ป่วยโรคกระดูกพรุน หรือ โรคเกี่ยวกับกระดูกสันหลัง
- ผู้ที่มีภาวะลิ่มเลือด
- ผู้ที่มีภาวะเกล็ดเลือดต่ำ
- ผู้ที่เพิ่งผ่านการผ่าตัด
- ผู้ที่มีแผลไฟไหม้
- ผู้ที่มีอาการปวดกล้ามเนื้อเฉียบพลัน
- ผู้ที่มีกล้ามเนื้อบวมและแดง
- ผู้ที่มีอาการปวดกล้ามเนื้อเพราะมีไข้
- สตรีมีครรภ์