ไฟฟ้าลัดวงจรคืออะไร และป้องกันไม่ให้ไฟฟ้าลัดวงจรได้อย่างไร 

T

เมื่อเกิดเหตุไฟไหม้ หรือเพลิงที่ไหน เบื้องต้นมักจะมีประโยคคลาสสิคอันแสนจะคุ้นหูคือ “คาดว่า น่าจะเกิดจากไฟฟ้าลัดวงจร” สรุปง่าย ๆ คือ สาเหตุที่เกิดไฟไหม้เพราะระบบไฟฟ้านั่นเอง  ดังนั้นเรามาทำความเข้าใจกับประโยคอันแสนจะคลาสสิคนี้กันเสียหน่อย 

ไฟฟ้าลัดวงจรคืออะไร 

Short Circuit หรือ ไฟฟ้าลัดวงจร คือ การไหลของกระแสไฟฟ้า 2 จุดที่มีแรงดันต่างกันมากมาแตะกัน หรือสัมผัสกัน ทั้งในทางตรงหรือทางอ้อมก็ได้ ทำให้เกิดพลังงานไฟฟ้าจำนวนมาก ทำให้บริเวณที่กระแสไฟฟ้าเคลื่อนที่นั้นมีความร้อนสูง จนเกิดประกายไฟขึ้น หรือถ้าพูดให้เข้าใจง่าย ๆ เลยคือ สายไฟ 2 เส้น ที่มีแรงดันไฟฟ้าต่างกันมาก มาแตะหรือสัมผัสกัน เมื่อกระแสไฟฟ้าที่ไหลผ่านทั้ง 2 จุดมาเจอกัน ก็ทำให้ตรงจุดนั้นเกิดความร้อนสูง จนเกิดประกายไฟ แล้วเจอกับวัสดุที่เป็นเชื้อเพลิง ทำให้ไฟลุกไหม้ และหากทำการดับไม่ทัน ก็ลุกลามกลายเป็น เพลิงไหม้ นั่นเอง 

ผลจากไฟฟ้าลัดวงจร 

  • กระแสไฟฟ้าไหลเป็นจำนวนมาก 
  • สายไฟฟ้ารับกระแสไฟฟ้าเกินพิกัดที่รับไหว 
  • อุปกรณ์ไฟฟ้าที่ไม่มีมาตรฐานระเบิด
  • เกิดประกายไฟ 

กรณีไฟฟ้าลัดวงจรเกิดจากอะไร

สาเหตุไฟฟ้าลัดวงจรเกิดได้หลายปัจจัยด้วยกัน แต่ปัจจัยส่วนใหญ่สามารถแยกออกเป็น 3 ส่วนด้วยกัน 

1. ความเสื่อมของอุปกรณ์ อายุการใช้งาน 

  • ใช้คัตเอาท์ไฟฟ้าแบบเก่า 
  • อุปกรณ์ไฟฟ้าเสื่อม ชำรุด สายไฟฉีกขาด ฉนวนกรอบ มักมีกลิ่นเหม็นไหม้ หรือควัน 
  • อุปกรณ์ไฟฟ้าหมดอายุการใช้งาน 

2. อุปกรณ์ไฟฟ้าไม่มีคุณภาพ ติดตั้งไม่ได้มาตรฐาน

  • อุปกรณ์ไฟฟ้าไม่มีคุณภาพ ราคาถูกแต่วัสดุคุณภาพต่ำ ไม่มีมาตรฐานรองรับ (เช่น มอก.) 
  • ติดตั้งระบบไฟฟ้าไม่ได้มาตรฐาน 

3. การใช้ไฟฟ้าเกินกำลัง 

  • ใช้ไฟฟ้าเกินมาตรฐานการรองรับของอุปกรณ์ อย่างสายไฟเล็กเกินไป เช่น สายไฟรองรับ 150 แต่ใช้กำลังไฟ 250v 
  • ต่อปลั๊กพ่วงมากเกินไป เช่น เสียบเครื่องใช้ไฟฟ้าจำนวนมากในปลั๊กพ่วงเดียวกัน  

ซึ่งสาเหตุเหล่านี้จะทำให้สายไฟไหม้ หลอมละลายจากปริมาณการไหลของกระแสไฟฟ้าที่ร้อนมากเกินไป และหากมีวัสดุที่พร้อมติดไฟอยู่ใกล้ ๆ ก็จะเกิดไฟไหม้ขึ้นได้ 

วิธีป้องกันไฟฟ้าลัดวงจร 

1. ใช้เซอร์กิตเบรกเกอร์ 

มีหลายบ้านที่ยังคงใช้คัตเอาท์แบบเก่า ซึ่งเป็นอุปกรณ์ตัดไฟแบบแมนนวล คือต้องใช้กำลังมือคนยกขึ้น ยกลง เพื่อทำการตัดกระแสไฟฟ้า และไม่มีใครสามารถคาดการณ์ได้ว่ากำลังมีกระแสไฟลัดวงจร ทำให้ไม่สามารถตัดระบบกระแสไฟได้ทัน ดังนั้นควรทำการเปลี่ยนมาใช้เป็นเซอร์กิตเบรกเกอร์ อุปกรณ์ตัดกระแสไฟฟ้าอัตโนมัติ เมื่อระบบเช็คไฟฟ้าลัดวงจรและพบกระแสไฟฟ้าเกิน ซึ่งสามารถหาซื้อได้ที่บริษัทขายอุปกรณ์ไฟฟ้าที่น่าเชื่อถือ และเป็นที่รู้จักในวงกว้าง 

2. ตรวจสภาพอุปกรณ์ไฟฟ้าและเครื่องใช้ไฟฟ้าเสมอ 

สมาชิกทุกคนในบ้านควรหมั่นสังเกต และคอยตรวจสอบสภาพเครื่องใช้ไฟฟ้าสม่ำเสมอ หากพบว่ามีการชำรุด ทำงานผิดปกติ สภาพภายนอกเก่าหรือกรอบ สีเปลี่ยนไปจากเดิม มีกลิ่นไหม้หรือควันไฟ ให้เลิกใช้และรีบเปลี่ยนใหม่ทันที อย่าฝืนใช้เพราะความเสียดาย เด็ดขาด 

3. ตรวจอุปกรณ์ไฟฟ้าและเปลี่ยนใหม่ตามเวลากำหนดที่ระบุ

หมั่นตรวจสอบอุปกรณ์ไฟฟ้า โดยเฉพาะที่มีการใช้งานมานาน ว่าถึงรอบการเปลี่ยนตามกำหนดหรือยัง หรือถ้ามีการชำรุด สายไฟขาด เก่า กรอบ จะได้รีบทำการซ่อมแซม หรือเปลี่ยนสายใหม่ได้ทัน ตรวจดูฝาครอบอุปกรณ์ไฟฟ้าที่ติดตั้งนอกบริเวณบ้าน ยิ่งช่วงหน้าฝนหรือมีฝนบ่อย จะต้องติดฝาครอบหรือเลือกใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าที่มีฝาครอบมิดชิดเพื่อป้องกันน้ำฝน 

4. เลือกอุปกรณ์ไฟฟ้าที่มีมาตรฐาน 

อย่าเห็นแก่ปลั๊กไฟราคาถูกตามตลาดนัด หรืออุปกรณ์ไฟฟ้าที่ไร้การรับรองความปลอดภัยใด ๆ เพราะราคาถูกหรือเกรงใจคนขาย แต่ควรเลือกซื้ออุปกรณ์ไฟฟ้าที่ได้รับมาตรฐานอุตสาหกรรม (มอก.) และจำหน่ายในราคาที่สมเหตุสมผล อย่าง sqd group co., ltd. เพื่อความปลอดภัยต่อชีวิตและทรัพย์สินที่สุด 

5. ไม่ใช้ไฟฟ้าเกินกำลัง 

ต่อเครื่องใช้ไฟฟ้าไม่ให้เกินจำนวนวัตต์ที่รางปลั๊กไฟและสายพ่วงสามารถรองรับได้ ไม่ต่อปลั๊กพ่วงหลายหัวในเต้าเสียบเดียว หรือต่อปลั๊กรางเป็นทอด ๆ เพราะเสี่ยงต่อการเกิดกระแสไฟฟ้าเกินกำลัง จนเกิดการลัดวงจรได้ 

เมื่อเกิดไฟฟ้าลัดวงจรควรทำอย่างไร 

สิ่งแรกที่ต้องทำเมื่อเกิดไฟฟ้าลัดวงจร คือ ตัดกระแสไฟฟ้าให้เร็วที่สุด ห้ามใช้น้ำในการดับไฟเด็ดขาด เพราะอาจก่อให้เกิดอันตรายจากไฟฟ้าร่วได้ หากเป็นกรณีคนถูกไฟดูด ก็ห้ามสัมผัสตัวก่อนตัดกระแสไฟฟ้า เพราะคนช่วยเหลือก็จะโดนไฟดูดด้วยเช่นกัน 

ไฟฟ้าลัดวงจรใช้อะไรดับ

เปลวไฟที่มีขนาดเล็ก ให้ใช้ผ้าหรือวัสดุที่เป็นฉนวนปิดคลุม เพื่อป้องกันไม่ให้สัมผัสกับอากาศ จะทำให้ไฟดับไปเอง 

กรณีเกิดเพลิงไหม้ในระบบไฟฟ้าขนาดใหญ่ เช่น ห้องคอมพิวเตอร์ หรือห้องควบคุมอุปกรณ์ไฟฟ้าในอาคารสูง ควรมีการติดตั้งถังดับเพลิงเฉพาะสำหรับอุปกรณ์ไฟฟ้า และระบบดับเพลิงอัตโนมัติที่ใช้สำหรับดับเพลิงจากอุปกรณ์ไฟฟ้าโดยเฉพาะ 

กรณีที่ไม่สารถดับเพลิงเองได้ ให้รีบแจ้งตำรวจดับเพลิง ที่หมายเลข 199 จากนั้นให้ปิดประตู และหน้าต่างห้องที่เกิดเพลิงไหม้ให้สนิท (แต่ต้องมั่นใจว่าไม่มีใครติดอยู่ในห้อง) เพื่อไม่ให้ไฟไหลออกมาและสัมผัสกับอากาศภายนอก จะช่วยให้เพลิงไหม้ช้าลง และสามารถดับเพลิงได้ง่ายขึ้น 

อีกสิ่งที่สำคัญและจำเป็นอย่างมากเมื่อเกิดไฟไหม้ คือ “สติ” เพราะต่อให้รู้วิธีการเอาตัวรอดมากแค่ไหน แต่ถ้าไม่มีสติ ก็ไม่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ และไม่ควรเปิดเครื่องใช้ไฟฟ้าทิ้งไว้เมื่อไม่ได้ใช้งาน โดยเฉพาะเมื่อไม่อยู่บ้าน เพราะนอกจากอาจจะก่อให้เกิดเพลิงไหม้แล้ว ยังเป็นการใช้พลังงานอย่างสิ้นเปลืองอีกด้วย 

สรุป

การป้องกันไฟฟ้าลัดวงจรที่ง่ายและได้ผล คือ เลือกใช้เซอร์กิตเบรกเกอร์ที่มีมาตรฐานรับรองคุณภาพ ตั้งแต่การเลือกซื้อกับแหล่งจำหน่ายอุปกรณ์ไฟฟ้าที่น่าเชื่อถือ แบรนด์สินค้าเป็นที่รู้จัก มีการการันตีความปลอดภัย เช่น มอก. และอย่าลืมตรวจสอบค่าไฟในบิลของแต่ละเดือน เพราะหากค่าไฟที่แพงเกินการใช้จริง อาจเป็นอีกสัญญาณที่ทำให้รู้ว่ามีไฟฟ้ารั่วอยู่ตรงที่ไหนสักแห่ง จะได้ทำการเช็คไฟฟ้าลัดวงจรได้ทันท่วงที ก่อนเกิดโศกนาฏกรรมจากกระแสไฟฟ้า