วิธีจัดการระบบไฟฟ้าภายในบ้านเพื่อป้องกันไฟดูดระหว่างน้ำท่วม
อีกสิ่งหนึ่งที่เป็นปัญหาน้ำท่วมคือ ไฟดูด เพราะมักจะพบคนถูกไฟดูด ไฟช็อต เมื่อน้ำท่วมหรือแม้แต่ช่วงฝนตกหนัก นับว่าเป็นอีกปัญหาด้านความปลอดภัยต่อชีวิตที่ไม่ควรมองข้าม ดังนั้นบ้านไหนที่ประเมินสถานการณ์แล้วอยู่ในจุดเสี่ยงต่อน้ำท่วมได้ นอกจากการขนของเตรียมย้ายหนีน้ำแล้ว ไม่ควรลืมที่จะจัดการกับระบบไฟฟ้าภายในบ้านด้วย เพื่อความปลอดภัยต่ออุบัติเหตุไฟฟ้าลัดวงจร ด้วยการถูกไฟดูด โดยควรจัดเตรียมดังนี้
วิธีเก็บของหนีน้ำป้องกันไฟดูด
- ให้เตรียมขนย้ายอุปกรณ์ไฟฟ้า และสิ่งของจำเป็นไว้ในที่ปลอดภัย หรือบนที่สูงที่น้ำท่วมไม่ถึง
- กรณีบ้านหลายชั้น และมีสวิตซ์แยกในแต่ละชั้น ให้ปลดสวิตซ์ตัดกระแสไฟฟ้าของชั้นที่น้ำกำลังจะท่วม หรือมีความเป็นไปได้ว่าน้ำจะท่วมถึง
- กรณีที่น้ำท่วมขังนาน และอาศัยในบ้านที่ถูกน้ำท่วมโดยไม่ได้อพยพไปไหน ให้ใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าที่ชั้นบนเท่านั้น แต่ถ้าเป็นบ้านชั้นเดียว ให้งดการใช้เครื่องใช้ไฟฟ้า และอุปกรณ์ไฟฟ้าทุกชนิด
- กรณีที่ตัวเปียก หรือยืนแช่น้ำ งดใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าทุกชนิด แม้ว่าอุปกรณ์ไฟฟ้าจะอยู่เหนือน้ำก็ตาม หากจำเป็นต้องใช้อุปกรณ์ไฟฟ้า ควรนำผ้าขนหนูที่ซับน้ำได้ดี มาซับให้มือหรือตัวแห้งสนิทเสียก่อน
- อย่าเข้าใกล้บริเวณที่มีเสาไฟฟ้า หรือระบบจำหน่ายกระแสไฟฟ้า ควรอยู่ให้ห่างประมาณ 2-3 เมตร
- กรณีพบเห็นสายไฟฟ้าขาด เสาไฟฟ้าล้ม หรือสายไฟฟ้าขาดแช่น้ำ ให้รีบออกห่างจากบริเวณนั้น รวมถึงรัศมีของน้ำที่มีสายไฟ เพราะอาจมีกระแสไฟฟ้าอยู่ในน้ำ และทำอันตรายได้ และรีบแจ้งเจ้าหน้าที่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคในพื้นที่ หรือสายด่วน PEA 1129
- หากพบคนถูกไฟดูด ไฟช็อต ห้ามเข้าไปช่วยด้วยมือเปล่า ห้ามแตะหรือสัมผัสตัวผู้ประสบเหตุเด็ดขาด และห้ามสัมผัสโดนกับตัวนำไฟฟ้าต่าง ๆ ด้วยเช่นกัน เพื่อป้องกันไม่ให้ไฟฟ้าดูดจนได้รับอันตรายไปด้วย แต่ควรรีบหาวัสดุที่ไม่เป็นสื่อนำไฟฟ้า เช่น ผ้าแห้ง ไม้แห้ง ถุงมือยาง เชือกแห้ง สายยาง หรือพลาสติกแห้ง ผลักหรือดึงผู้ถูกไฟดูดออกจากจุดนั้นให้เร็วที่สุด และควรปลดสวิตซ์ด้วยผู้เชี่ยวชาญ หรือผู้ที่รู้จริงเท่านั้น
- ปฐมพยาบาลเบื้องต้นให้กับผู้ถูกไฟดูดก่อนนำส่งโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด
หลังจากระดับน้ำลด
- หลังระดับน้ำลดลง ห้ามเปิดระบบควบคุมไฟฟ้า หรือเบรกเกอร์ที่เชื่อมต่อกับปลั๊กไฟที่ถูกน้ำท่วมโดยทันที เพราะในปลั๊กไฟอาจยังมีน้ำหลงเหลือ หรือมีความชื้นจนอาจเกิดไฟฟ้าช็อต หรือเกิดประกายไฟประทุขึ้นได้ จึงควรใ้หช่างไฟฟ้าเข้ามาทำการตรวจสอบความพร้อมในการใช้งานก่อน
- ตรวจสอบอุปกรณ์ไฟฟ้าให้ทั่วบริเวณ หากพบว่าสายไฟชำรุด มีสภาพแตกหักเป็นลายงา หรือหักจนเห็นลวดทองแดง ให้รีบส่งซ่อมหรือเปลี่ยนสายไฟใหม่จากช่างไฟทันที ห้ามทำการซ่อมแซมเองเด็ดขาด ไม่ว่าจะด้วยวิธีการใช้เทปพันสายไฟ หรือหาเทปกาวมาห่อหุ้มบริเวณชำรุด เพราะนอกจากจะไม่สามารถป้องกันน้ำเข้าได้แล้ว อาจทำให้กระแสไฟรั่วออกมาขณะใช้งานด้วย เสี่ยงให้เกิดอันตรายอย่างยิ่ง
- กรณีที่ต้องการใช้ปั๊มสูบน้ำไฟฟ้า เพื่อลดระดับน้ำที่ท่วมขังในพื้นที่ ควรทำการตรวจสอบสภาพความพร้อของอุปกรณ์ก่อนใช้งานทุกครั้ง
หากพบอุบัติเหตุเกี่ยวกับระบบไฟฟ้า หรือสายไฟชำรุด สายไฟขาด ควรรีบแจ้งการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคในพื้นที่ หรือสายด่วน 1129